24 เมษายน วันเทศบาล

alt



          วันเทศบาล ตรงกับวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนด วันเทศบาล เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

ประวัติความเป็นมาวันเทศบาล 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ ให้ทันสมัยเป็นอันเดียวกันกับนานาอารยะประเทศโดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ซึ่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน

          ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 70 กว่าปี เทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาได้ด้วยตนเอง เพื่อตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

          กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น "วันเทศบาล" และได้แจ้งให้เทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเทศบาลเป็นประจำทุกปี เช่น การทำบุญตักบาตร การรณรงค์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น การจัดหน่อยบริการประชาชนเคลื่อนที่เป็นพิเศษ การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาท และภารกิจของเทศบาลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) ได้จัดให้มีโครงการวันเทศบาลขึ้น เพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วกัน โดยมีกิจกรรมพิเศษ เช่นทำบุญตักบาตร กิจกรรมการแข่งขันกีฬา และจัดบอร์ดแสดงผลงาน



 

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเทศบาล 

          1. เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล

          2. เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็น ถึงความสำคัญ ของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญ ของการบริการ และการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล

          3. เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ความสามัคคีซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 1,144 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 22 แห่ง เทศบาลเมือง 108 แห่ง และเทศบาลตำบล 1,014 แห่ง

ขนาดของเทศบาล 

          เทศบาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้

            มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

สภาเทศบาล 

            เทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน

            เทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน

            เทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน

          ทั้งนี้ สภาเทศบาลประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธานสภาเทศบาล 2 คน นอกจากนี้ ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี "นายกเทศมนตรี" ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลนั้นทั้งหมด และปัจจุบันเทศบาลทุกประเภทมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day)

วันคุ้มครองโลก : Earth Day


           22 เมษายน เป็นวันคุ้มครองโลก หรือวัน Earth Day ทั่วโลกพร้อมใจรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม          

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นับวันโลกของเราเริ่มประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษ โดยเฉพาะปัญหาการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือ Green House Effect ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลาย ๆ ด้าน 

            ...และเพื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ทางโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ จึงถือเอาวันที่ 22 เมษายน เป็นวันคุ้มครองโลก หรือวัน Earth Day เพื่อเป็นโอกาสอันดีที่คนทั่วโลกจะพร้อมใจกันทำประโยชน์ เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกัน และให้โลกของเราคงอยู่ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ส่วนวันนี้กระปุกดอทคอมจึงจะพาไปรู้จัก วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day กันให้มากขึ้นค่ะ 


ประวัติความเป็นมา วันคุ้มครองโลก (Earth Day)

           โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Program หรือ "UNEP") ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day (เอิร์ธเดย์)  โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิด วันคุ้มครองโลก เป็นคนแรกก็คือ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา 

           โดยเมื่อปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ก็เห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งการทัวร์ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม วันคุ้มครองโลก

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 วุฒิสมาชิกเนลสัน ได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนรากหญ้าทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา

           จนเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 ประชาชนอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม กว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันมาชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดก็มีการกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ "Earth Day" โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา

           ทั้งนี้ นิตยสาร อเมริกัน เฮอริเทจ (American Heritage Magazine) ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 ได้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "เป็นเหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตย"

ประเทศไทยกับวันคุ้มครองโลก


           
และเมื่อทั่วโลกต่างจัดกิจกรรมร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ประเทศไทยเองก็ไม่ได้น้อยหน้า ได้เริ่มจัดให้มีการรณรงค์ วันคุ้มครองโลก ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2533  โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจาก สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ ป่าไม้ และผลกระทบอันร้ายแรงจากการตัดไม้ทำลายป่า  นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดกิจกรรมรักษ์ธรรมชาติ เพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้บุกเบิกด้านการอนุรักษ์ป่าไม้คนสำคัญของประเทศไทยอีกด้วย

 
เป้าหมายของวันคุ้มครองโลก

           1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ

           2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป

           3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ

           4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิต ที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป

           5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

           6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์

           7. เพื่อสร้างสำนึกที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ

 

กิจกรรมที่ปฏิบัติในวันคุ้มครองโลก

           ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของ วันคุ้มครองโลก มากขึ้น จึงได้ร่วมกันรณรงค์ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

           1. ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น

           2. อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา

           3. รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

           4. เน้นการคุมกำเนิด เพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม

           5. ให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

           6. ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

           7. รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในแต่ละครัวเรือน เพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ เป็นการลดปริมาณขยะ



            เนื่องจากวันนี้ 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) กระปุกดอทคอม จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่ยังไม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ใช้โอกาสนี้เป็นวันเริ่มต้นในการทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน ช่วยกันรักษาความสะอาดตามที่ต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายชั้นบรรยากาศ และลดการใช้พลังงานต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถ้าหากเราทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมกันตั้งแต่วันนี้ แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการรักษาธรรมชาติก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือมนุษย์ทุกคนนั่นเอง

14 เมษายน วันครอบครัว

alt

14 เมษายน วันครอบครัว

          วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันครอบครัว" เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรักความอบอุ่น และความสุขในครอบครัวมากที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตของผู้คน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ก็ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน สังคมด้วยเช่นกัน

ความหมายของสถาบันครอบครัว

1. ความหมายทั่วไป

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "สถาบัน" และ "ครอบครัว" ไว้ดังนี้            

          - สถาบัน หมายถึง สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ

          - ครอบครัว หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร

2. ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์

          ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่า มารดา บิดาก็ดี สามี ภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว

3. ความหมายในแง่สถาบัน

          ครอบครัว หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก


ความสำคัญของวันครอบครัว

          ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

ประวัติวันครอบครัว   

          สืบเนื่องจากคนไทยสมัยก่อนจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ รวมกันอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกันความใหญ่เล็กของบ้านขึ้นอยู่กับจำนวนคนและต่อเติมขนาดของบ้านเรื่อยไปตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นถึงเทศกาลก็ทำข้าวของอาหารไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านญาติพี่น้องจะเข้ามาร่วมมือช่วยเหลือกันข้าวของอาหารที่เหลือก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วน แต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม

          ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติ ให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันครอบครัว" ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา


บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่พึงปฏิบัติต่อกัน

          1. ให้ความรัก ความอบอุ่นและความเอื้ออาทรต่อกัน

          2. หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

          3. ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน

          4. ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

          5. รู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือย

          6. รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน

          7. ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมกันเช่น การเข้าวัดอบรมปฏิบัติธรรมนำครอบครัวอบอุ่นครอบครัวสนุกกับห้องสมุด ศิลปะสุดสัปดาห์




14 เมษายน วันครอบครัว
 

กิจกรรมวันครอบครัว 

ในส่วนของหน่วยงานราชการ หรือ หน่วยงานอื่น ๆ

          1. จัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ ของสมาชิกในครอบครัว

          2.จัดมอบรางวัลให้สำหรับครอบครัวดีเด่น เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครอบครัวที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ

ในส่วนของครอบครัว

          กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติกันในวันครอบครัว คือ การให้เวลากับครอบครัวมากยิ่งขึ้น อาทิ การทำอาหารไปทานกันตามสถานที่ต่าง ๆ การไปทานอาหารนอกบ้าน การไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งการไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย

          แต่สำหรับครอบครัวที่ไม่มีโปรแกรมออกข้างนอก ก็สามารถสร้างกิจกรรมในบ้านเชื่อมสัมพันธ์ได้หลากหลาย เช่น การช่วยกันทำอาหารทานที่บ้าน , หาดีวีดีหนังสักเรื่องมาดูด้วยกันทั้งครอบครัว เป็นต้น

13 เมษายน วันสงกรานต์

alt  

          วันสงกรานต์ มีกิจกรรมที่ควรทำและข้อปฏิบัติในประเพณีวันสงกรานต์ อย่างไรบ้าง มาดูกัน
          

การเตรียมงาน
 

          วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้...  
 

           1. เครื่องนุ่งห่ม     

           เพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน  
 

           2. ของทำบุญ 

           เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิเศษ 2 อย่าง ได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือกะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ  
 

           3. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง 

           เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่ากำจัดสิ่งสกปรกให้ สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  
 

           4. สถานที่ทำบุญ 

           วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎีที่อาศัยแล้วยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย 


             ก่อนหน้านี้ เราได้ฉลองวันปีใหม่สากลกันมาแล้ว ตอนนี้ก็ใกล้จะถึงเทศกาลวันปีใหม่ของไทยแล้วนะคะ นั่นก็คือ เทศกาลสงกรานต์ นั้นเองค่ะ ในวันนี้ ลูกหลานที่แยกย้ายออกไปสร้างครอบครัวอยู่ที่ใดก็จะกลับบ้านมาพบปะ กราบไหว้บุพการี นอกจากนี้ในวันสงกรานต์ยังมีกิจกรรมมากมาย ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสาดน้ำอย่างเดียวนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้นำกิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์ ที่เชื่อแน่ว่า หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
 

 
สรงน้ำพระ วันสงกรานต์

การทำบุญ 
 

          การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
 

          1. พิธีหลวง หรือ พระราชพิธีสงกรานต์ 
 

          วันที่ 15 เมษายน ในเวลาเช้า 10.30 น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน 67 รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล 
 

          เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว 2 ผืน นุ่งผืน 1 ห่มผืน 1) มีขวดน้ำหอม 1 ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ 
 

          เวลา 16.30 น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่าง ๆ 
 

          เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที 13, 14, 15, 16 เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช 
 

          เมื่อก่อนการบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง มี 4 วัน คือวันที่ 13-16 เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ 15 เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ 15 เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ 150 รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตทีในพระบรมมหาราชวัง 
 

          เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียรทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 71 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร 
 

          เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จเจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออก ประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง 5 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ 
 

          เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดียสถานต่าง ๆ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฐิ 5 รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก 50 รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสด็จการ  
 

           2. พิธีราษฎร์ 
 

              การทำบุญตักบาตรในวันสงกรานต์ 

              การทำบุญในวันสงกรานต์อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ 2 แห่ง คือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถวและนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้ ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพร คือ พาหุง พอเสร็จก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉันจะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี 

 

วันสงกรานต์
 

กิจกรรมที่ประชาชนทำในวันสงกรานต์     



          การก่อเจดีย์ทราย

              จะทำในวันใดวันหนึ่งของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้างหรือถมพื้นที่เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด 

          การปล่อยนกปล่อยปลา

              เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น 

          การสรงน้ำพระ 

              มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน          

          การรดน้ำผู้ใหญ่

              เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรนำผ้า 1 สำรับ คือ ผ้านุ่ง 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม 1 สำรับ และดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงความคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป

          การทำบุญอัฐิ 

              เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริงจัดขึ้นเพื่อเชิ่อม ความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย 

          การสาดน้ำ

              เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย 

          การแห่นางแมว

              บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน

          อย่างไรก็ตามในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไป ก็สมควรให้ปฏิบัติไปตามนั้น เพื่อเป็นการเคารพภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้กลั่นกรองเลือกสรรแล้วว่า เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยตรงที่จะเลือกรับหรือไม่รับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งสิ่งใหม่ ๆ ที่แทรกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง 

          สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์ 

           1. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ 

           2. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด 

           3. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม 

           4. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ 

           5. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป 1 ปีแล้ว และในรอบปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง 

           6. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว 

           7. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน

13 เมษายน วันผู้สูงอายุไทย

alt

        แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น "ไม้ใกล้ฝั่ง" แต่ "ผู้สูงอายุ" ทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่เราจะละเลยเสียไม่ได้ อีกทั้งผู้สูงอายุ ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมากถึง 3 ใน 5 ของประชากรโลก ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนด "วันผู้สูงอายุ" ขึ้น ประหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นคนใกล้ตัว

        สำหรับประเทศไทย วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธแล้ว กิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของวัน ก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง

ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ

        ในประเทศไทยเริ่มจุดประกายเรื่องนี้ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 



วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

 

        1. เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ 

        2. เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ 

        3. เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้ 

        4. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ 

        5. เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ 

        6. เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้วทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป



วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

 

        ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดให้ปี 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า "Add life to Years" เพื่อให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"

        ในส่วนของรัฐบาลไทยสมัยนั้น ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เห็นความสำคัญต่อนโยบายดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุของทุกปี

วันผู้สูงอายุสากล

        องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 หรือ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ...

        "ผู้สูงอายุ" หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลาย คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง



ดอกลำดวน


ดอกไม้สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ 

        รัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ แล้วกำหนดให้ "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย 

        สำหรับสาเหตุที่เลือก "ดอกลำดวน" เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes.จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป 

กิจกรรมวันผู้สูงอายุ           
 
        โดยทั่วไปจะมีการจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัว มอบของขวัญ และขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ จะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ 

บทความ อื่นๆ ...


Thai Arabic Belarusian Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

















 

คุณพอใจ อบต.หนองกระเจ็ด ด้านใด





















 















QR Code
อบต.หนองกระเจ็ด



 


ลิขสิทธิ์ © 2559 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร 0-3258-6261

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล