16 สิงหาคม 2560 วันสันติภาพไทย

                  alt

16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย ร่วมเชิดชูวีรบุรุษผู้คืนสันติภาพ

alt

          16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย วันที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก ร่วมเชิดชูวีรบุรุษผู้คืนสันติภาพสู่ประเทศไทย
          อาจจะจริงตามคำกล่าวที่ว่า โลกไม่เคยขาดแคลนสงคราม แต่สิ่งที่เข้ามายุติสงครามในทุกครั้ง นั่นคือ สันติภาพ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ออกมาต่อสู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอยและได้มีการประกาศสันติภาพภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เรียกวันนั้นว่า "วันสันติภาพไทย" ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ไทยได้จารึกไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อในยุคหลัง ๆ คนส่วนใหญ่ทราบเพียงว่า ทุก ๆ วันที่ 16 สิงหาคม เป็น "วันสันติภาพไทย" เพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว วันสันติภาพไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบ

วันสันติภาพไทย คือ ?
          ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้ออกประกาศสันติภาพพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ ถือเป็นโมฆะ หรือเรียกได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชอธิปไตย แสดงจุดยืนแห่งความเป็นกลาง มีอิสรภาพ โดยมี นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
          สงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นสงครามอันแสนดุเดือด ร้ายแรง มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้กว่า 18 ล้านคนทั่วโลก แม้ประเทศไทยเองจะไม่ได้เป็นผู้จุดชนวนสงคราม แต่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในวิกฤตการณ์สงครามครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หากในวันนั้นไม่มีกลุ่ม "ขบวนการเสรีไทย" ซึ่งนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ออกมาต่อสู้ กอบกู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอย ภายใต้อุดมการณ์ รักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยไว้ให้ได้ ประเทศไทยก็คงจะไม่กลับมามีความสงบสุข และไม่ถูกยึดครองดินแดนดังเช่นในทุกวันนี้
          ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ชนรุ่นหลังจึงได้ถือเอาวันประกาศอิสรภาพดังกล่าว จารึกเป็น "วันสันติภาพไทย" โดยจะมีการจัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี
งานรำลึกขบวนการเสรีไทย
          เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีอันแสนยิ่งใหญ่ของขบวนการเสรีไทย ในวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี จึงได้มีการจัดงานวันสันติภาพไทย อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อไม่ให้เรื่องราวสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยกลืนหายไปกับกาลเวลา อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้ประชาชน รวมไปถึงเยาวชนรุ่นหลังมีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นอยู่ร่วมกันด้วยความสันติ มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน

12 สิงหาคม 2560 ประวัติวันแม่แห่งชาติ

วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ประวัติวันแม่แห่งชาติ


alt

 

          วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแม่ ภาษาอังกฤษ คือ Mother Day ซึ่งวันนี้ถือตามวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนควรรำลึกถึงพระคุณของแม่ 
          ประวัติวันแม่แห่งชาติ มีความเป็นมาอย่างไร สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่ทำไมจึงใช้ดอกมะลิ และคำขวัญวันเเม่ปีต่าง ๆ มีข้อความว่าอะไร กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่มีอะไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก

ประวัติวันแม่แห่งชาติ
          ประวัติวันแม่แห่งชาติ แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุน จนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป 
          มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ 
          ต่อมาถึง พ.ศ. 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
          1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
          2. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ  
          3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
          4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่

 การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

alt

          งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤตสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
          ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ

สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่

alt

          สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
รวมคำขวัญวันเเม่ปีต่าง ๆ ดังนี้
          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2559 คือ "สอนให้ลูกทั้งหลายเดินสายกลาง ทำทุกอย่างพอดีมีเหตุผล ประกอบด้วยคุณธรรมนำทางตน ย่อมได้คนดีพอต่อบ้านเมือง"
          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2558 คือ "ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา รวมกันเข้าคือทรัพย์สินแผ่นดินแม่ ฝากลูกไทยรวมใจภักดิ์รักดูแล เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล"
          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2557 คือ "รักเรียน รู้งาน ถนอมบ้านเมืองไทย ร่วมใจสามัคคี คือลูกที่ดีของแม่"
          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2556 คือ "คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2555 คือ "มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา อยู่ที่คอยขัดเกลา แต่เบามือ"
          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2554 คือ "เพลงชาติไทยเตือนไทยไว้เช้าค่ำ ให้จดจำจารึกใจไว้ทุกส่วน จะดำรงคงไทยได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2553 คือ "แผ่นดินนี้แม่ของลูกใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าวที่เดินซ้ำย่ำหว่านไถ บำรุงดินจนอุดมสมดังใจ หวังนาไทยเป็นของไทยไปนิรันดร์"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2552 คือ  "แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร   เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2551 คือ "เมื่อเกิดมาอาศัยถิ่นแผ่นดินไหน ควรมีใจกตัญญูรู้คุณถิ่น หากคนไทยรู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จักไม่มีวันสิ้นแผ่นดินไทย"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2550 คือ "ข้าวในนาปลาในน้ำคำโบราณ คือตำนานความอุดมสมบูรณ์สิน ฝากลูกไทยร่วมห่วงแหนรักแผ่นดิน ถนอมไว้อย่าให้สิ้นแผ่นดินไทย"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2549 คือ  "รักในหลวงพร้อมใจใส่เสื้อเหลือง รักบ้านเมืองจงน้อมใจให้สร้างสรรค์ ใส่สีเดียวแล้วใจเดียวกลมเกลียวกัน รักเช่นนั้นชาติของตนจึงพ้นภัย"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2548 คือ  "ดุจดังแม่ผู้ประเสริฐบังเกิดเกล้า เลี้ยงเราทุกคนมาจนใหญ่ ทุกคำข้าวคือสินแผ่นดินไทย ควรตรองใจทดแทนคุณแผ่นดิน"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2547 คือ  "เลี้ยงลูกมาอย่างน้อยเจ็ดร้อยปี ให้อยู่ดีกินดีมีสุขถ้วน แม้มีใจกตัญญูรู้การควร ไทยทั้งมวลจงตอบแทนคุณแผ่นดิน" และ "แผ่นดินไทยให้ชีวิตจิตวิญญาณ เลี้ยงสังขารลูกไทยจนใหญ่กล้า เทียบพระคุณของท่านคือมารดา จงรักษาและทดแทนคุณแผ่นดิน"
           - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2546 คือ "สามร้อยหกสิบห้าวันคือวันแม่  มิใช่แค่วันใดให้นึกถึงสม่ำเสมอสมัครจิตคิดคำนึง เหมือนแม่ซึ่งรักลูกครบทุกวัน"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2545 คือ "แม่คือพระประจำอยู่ในบ้าน บูชาท่านไว้เถิดเกิดมิ่งขวัญ พระคุณแม่เลิศล้ำเกินรำพัน แม่จึงเป็นคนสำคัญทุกวันไป"

          - คำขวัญวันเเม่ ประจำปี 2544 คือ "พระองค์แรกผู้แสนดีให้ชีวิต ครูคนแรกผู้ประสิทธิ์การศึกษา สองหัตถ์โอบนคราพาร่มเย็น รวมคุณค่านี้ได้แก่แม่เราเอง"  

เพลงวันเเม่

alt
 

          ค่าน้ำนม คือ เพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้ในงานวันแม่เเห่งชาติ แต่งขึ้นโดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้เรียบเรียงบทเพลงที่เรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอมตะ และเป็นงานเพลงชิ้นเอก ซึ่งได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนระลึกถึงบุญคุณของแม่และวันคืนเก่า ๆ ของวิถีไทยในสมัยก่อน
          เนื้อเพลง นอกจากจะให้เราระลึกถึงพระคุณแม่แล้วยังทำให้เรามองเห็นขนบดั้งเดิมตามวิถีไทยหลายอย่างจากเนื้อเพลง เช่น การศึกษาของผู้ชายไทยสมัยก่อนนั้น มักจะอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นแหล่งสอนสั่งความรู้ ทางโลก อ่านออกเขียนได้ และ ทางธรรม อันได้แก่ การถือศีล และยึดมั่นในพระรัตนตรัย นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากลูกชายบ้านไหน ได้บวชเรียน ก็จะส่งแผ่อานิสงส์ไปให้กับพ่อแม่ ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่ที่ดี ๆ เมื่อถึงกาลแตกดับ
          ท่วงทำนองเสนาะโสต และทุ้มเย็น กับคำร้องที่ตรงไป ตรงมา ชวนให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แม้แต่เด็กเล็ก ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครฟังเพลงนี้แล้วจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับความซาบซึ้งแห่งรักที่แม่มีให้เรา...
          เพลงค่าน้ำนม
          แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล
          แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม 
          ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋าลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน 
          ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย
( ซ้ำ *, ** )

 

 

7 สิงหาคม 2560 วันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

                 alt

วันรพี ประวัติวันรพี 7 ส.ค. วันรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย

alt

          วันรพี 7 สิงหาคมของทุกปี รู้หรือไม่ว่าวันรพี เป็นวันน้อมรำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย นั่นคือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

ประวัติพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ประสูติ
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 ตรงกับวาระทางสุริยคติ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417 
การศึกษา 
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ 
          เหตุที่พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ก็เนื่องจากช่วงเวลานั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลฝรั่ง ชาวยุโรปและอเมริกันมีอำนาจในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งยากแก่การปกครอง จึงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่าง ๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติของตนเสีย เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มีเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริง  
          พระองค์ท่านจึงทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย เพื่อจะได้กลับมาพัฒนากฎหมายบ้านเมืองกับพัฒนาผู้พิพากษาและราชการศาลยุติธรรมให้ดีขึ้น และที่สำคัญเพื่อให้ต่างชาติยอมรับนับถือกฎหมายไทย และยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย  

alt


          พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงมีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง ในต้นปี 2434 พระองค์ทรงสามารถสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christchurch College Oxford University) ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชันษาเพียง 17 พรรษา 
          ซึ่งทีแรกมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา โดยอ้างว่าพระชนมายุยังไม่ถึง 18 พรรษา ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย พระองค์จึงต้องเสด็จไปขอความกรุณาโดยพระองค์ทรงดำรัสว่า "คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว" ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันโดยให้ทรงสอบไล่อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็ทรงสอบได้อีก
          และด้วยความที่พระองค์ท่านทรงพระวิริยะอุตสาหะเอาพระทัยใส่ในการเรียนเป็นอย่างมาก ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาและได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย Bachelor of Arts.Hons (B.A. (Oxon)) เมื่อทรงพระชันษา 20 พรรษา โดยใช้เวลาศึกษาเพียง 3 ปี
          ด้วยพระปรีชาญาณดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า "เฉลียวฉลาดรพี" 
          หลังจากสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister at law) ที่กรุงลอนดอน แล้วจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมารับราชการที่ประเทศไทยเสียก่อน 
 

alt


งานราชการ และพระกรณียกิจ 
          ปี 2437 เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เสด็จกลับมา พระองค์ก็ทรงเป็นอธิบดีผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อสอนความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้เข้ารับราชการพลเรือนในกระทรวงต่าง ๆ และต่อมาพระองค์ทรงสมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการ แล้วทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และทรงศึกษากฎหมายไทยอย่างจริงจัง 
          ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะไม่นาน พระองค์สามารถทำงานในกรมราชเลขานุการได้ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะการร่างพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นองคมนตรีในปีเดียวกันนั้น 
          ปี 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นสภานายกพิเศษจัดการตั้งศาลในมณฑลอยุธยา พระองค์ทรงทำการในหน้าที่ด้วยพระปรีชาสามารถ เป็นที่นิยมยินดีของหมู่ชนในมณฑลนั้น 
          ปี 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นประธานพร้อมด้วยกรรมการไทยและฝรั่ง ช่วยกันตรวจชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่และปรึกษาลักษณะการที่จะจัดระเบียบแล้วเรียบเรียงกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐาน  และในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และคงอยู่ในตำแหน่งสภานายกพิเศษจัดการศาลตามเดิมด้วย

          ในการปรับปรุงกฎหมาย เบื้องต้นมีการนำกฎหมายอังกฤษมาใช้ โดยใช้กฎหมายวิธีสบัญญัติก่อน ทีแรกมีข้อถกเถียงกันว่าจะใช้ระบบกฎหมายแบบอังกฤษ หรือจะใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ แบบประเทศยุโรปแล้ว 
          รัชกาลที่ 5 ก็ทรงตัดสินพระทัยปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นไปตามแบบประเทศภาคพื้นยุโรป คือ ใช้ระบบ "ประมวลธรรม" แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังนำแนวคิดหลักกฎหมายอังกฤษบางเรื่องมาใช้ด้วย
          ประมวลกฎหมายของไทยฉบับแรก คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 11 ปี โดยสำเร็จลงในปี 2451 พระองค์เจ้ารพีฯ ท่านทรงช่วยแปลต้นร่างที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ส่วนประมวลกฎหมายฉบับต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพต่าง ๆ พระองค์ท่านก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการยกร่างด้วย

          ในปีเดียวกันนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ มีพระดำริว่า "การที่จะยังราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยการเปิดให้มีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นที่แพร่หลาย" จึงทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทั้งหลายมีโอกาสรับการศึกษากฎหมาย และพระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เองด้วย 
          และแล้วปลายปี 2440 พระองค์ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เนติบัณฑิต โดยใช้ศาลาการเปรียญใหญ่ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่สอบ ใช้เวลาสอบทั้งสิ้น 6 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ให้คะแนนเป็นเกรด ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีทั้งสิ้น 9 คน ผู้สอบได้ลำดับที่ 1 ในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยคนแรก 
          ปี 2441 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาในคณะกรรมการ มีชื่อว่า "ศาลกรรมการฎีกา" ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ แต่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้กลายมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน 
          ปี 2442 ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น "กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์" 
          ปี 2443 ทรงดำริจัดตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือ และวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดหลายครั้ง 
          ปี 2453 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี  
          ปี 2455 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คชนาม" 
          ปี 2462 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรค ที่พระวักกะ (ไต) และได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาพักราชการรักษาพระองค์ และได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แพทย์ได้จัดการรักษาและถวายพระโอสถ อย่างเต็มความสามารถ แต่พระอาการหาทุเลาลงไม่  
          จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2463 พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุ 47 พรรษา
 

alt  alt

 

ทรงปฏิรูประบบกฎหมาย และเป็นห่วงผู้พิพากษา

          ในสมัยพระองค์ การปฏิรูปงานศาล เป็นสิ่งจำเป็นต่อสยามประเทศเป็นอย่างมาก มูลเหตุเนื่องจากศาลในตอนนั้นกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ อันส่งผลให้การพิจารณาอรรถคดีเป็นไปด้วยความล่าช้ามาก อำนาจตุลาการขาดอิสระถูกแทรกแซงโดยอำนาจบริหาร รวมทั้งมีการทุจริตเนื่องจากขาดระบบตรวจสอบ การตัดสินคดี ตลอดจนเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเอกราชทางการศาล ที่ต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย แต่กลับตั้งศาลกงสุลพิจารณาตัดสินคดีคนในชาติของตนเอง 
          ดังนั้น เพื่อทำให้การยุติธรรมสามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ พระองค์จึงทรงพัฒนาระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีฝ่ายธุรการคอยให้ความสะดวก 
          และทรงได้วางนโยบายให้ศาลสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอารยประเทศ 
          ในเรื่องนี้ ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า "อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้ มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอ ดังที่รัฐบาลเองก็ได้ประกาศแสดงความอันนั้นหลายครั้ง..." 
          ซึ่งการที่ศาลสามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งของประชาชน และนำไปสู่การยอมรับของประเทศอื่น ๆ ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ กว่าจะแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมฝ่ายบริหารได้ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปีเลยทีเดียว ซึ่งศาลเพิ่งแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณปี 2543 นี้เอง 
          พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเอาพระทัยใส่คุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงยึดมั่นว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมคติสำคัญยิ่งกว่ากิจส่วนตัวใดๆ 
          พระองค์เจ้ารพีฯ ท่านก็ได้ทรงตักเตือนผู้พิพากษาเสมอมาว่า "อย่ากินสินบน" 
          นอกจากนี้ พระองค์เจ้ารพีฯทรงขอพระราชทานพระมหากรุณาเรื่องเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับศักดิ์และหน้าที่ การที่จะให้ผู้พิพากษาคงความดีเอาไว้นั้น ต้องระลึกถึงเงินเดือนที่จะให้แก่ผู้พิพากษาด้วย เพราะกว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้นั้น ต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นพิเศษกว่าจะสำเร็จ ตำแหน่งที่จะเลื่อนขึ้นก็มีน้อย และอีกข้อหนึ่งในราชการอย่างอื่น ตามภาษาไพร่เรียกว่า "มีกำลังในราชการ" แต่ฝ่ายตุลาการไม่มีเลย
ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" 
          ด้วยคุณาณุปการอันล้นพ้นดังกล่าวข้างต้น เนติบัณฑิตยสภาจึงได้ถวายการยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็น"พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" เมื่อปี 2497 ทั้งเริ่มต้นเรียก วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันรพี" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พร้อมทั้งมีการจัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี

4 สิงหาคม 2560 วันสื่อสารแห่งชาติ

 

alt

วันสื่อสารแห่งชาติ

alt

          วันสื่อสารแห่งชาติ 4 สิงหาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงความสำคัญวันสื่อสารแห่งประเทศไทย เราจึงมีประวัติ กิจกรรม การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมมาฝาก

          "การสื่อสาร" คือ กระบวนการสำหรับแลกเปลี่ยนสารที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะคนเราทุกคนต้องสื่อสาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของท่าทาง สัญลักษณ์ หรืออยู่ในรูปแบบของภาษา... ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีใจความว่า
          "การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง"
           ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารจะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ

alt

ความเป็นมาของวันสื่อสารแห่งชาติ
          ตามประวัติความเป็นมาของวันสื่อสารแห่งชาติ ขอย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2526 คณะกรรมการจัดงานปีการสื่อสารโลก ได้พิจารณาเห็นว่าวันที่ 4 สิงหาคม 2426 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "กรมไปรษณีย์" และ "กรมโทรเลข" ขึ้นในประเทศไทย

          ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกิจการสื่อสารของประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรก เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" และจัดงาน "วันสื่อสารแห่งชาติ" ครั้งแรกได้จัดในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงาน "ครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข" และการเฉลิมฉลอง "ปีการสื่อสารโลก" ของสหประชาชาติด้วย
          ส่วนในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี เช่น
            พ.ศ. 2528 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับเยาวชนแห่งชาติ
            พ.ศ. 2530 หัวข้อการจัดงาน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสาร
            พ.ศ. 2535 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารเพื่อทศวรรษหน้า
            พ.ศ. 2538 หัวข้อการจัดงาน คือ การสื่อสารกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสนเทศ เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2538 เป็นปีเทคโนโลยีสารสนเทศไทย
          ในวันสื่อสารแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
          1. พิธีถวายเครื่องสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
          2. การกล่าวคำปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
          3. การจัดทำดวงตาไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย
          4. การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม

1 สิงหาคม 2560 วันสตรีไทย

                           alt

วันสตรีไทย 1 สิงหาคม

alt

              วันสตรีไทย ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝาก
              คงมีหลาย ๆ คน ที่ไม่รู้ว่า วันที่ 1 สิงหาคม เป็น วันสตรีไทย ซึ่งเป็นวันที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม และให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว และเพื่อให้ทุก ๆ คนได้รู้จักความสำคัญ และความเป็นมาของ วันสตรีไทย กระปุกดอทคอม จึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับ วันสตรีไทย มาฝาก

alt

ดอกคัทลียา ควีนสิริกิติ์

          วันสตรีไทย ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ และในปี 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสตรีไทย" และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ "ดอกคัทลียา ควีนสิริกิติ์" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันสตรีไทย

              เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต พร้อมทั้งมีพระราชดำรัส 4 ประการ เนื่องในวันสตรีไทย
                  ประการที่ 1 พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์
                  ประการที่ 2 พึงทำหน้าที่แม่บ้านให้ดี
                  ประการที่ 3 พึงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย
                  ประการที่ 4 ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น

              หากสตรีไทยทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง 4 ประการ นี้ได้ ก็จะส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศชาติมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยจักเป็นที่ยกย่อง ชื่นชมของสังคมโลกตลอดไป

บทความ อื่นๆ ...


Thai Arabic Belarusian Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

















 

คุณพอใจ อบต.หนองกระเจ็ด ด้านใด





















 















QR Code
อบต.หนองกระเจ็ด



 


ลิขสิทธิ์ © 2559 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร 0-3258-6261

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล