24 เมษายน วันเทศบาล

พิมพ์
alt



          วันเทศบาล ตรงกับวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนด วันเทศบาล เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

ประวัติความเป็นมาวันเทศบาล 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ ให้ทันสมัยเป็นอันเดียวกันกับนานาอารยะประเทศโดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ซึ่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน

          ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 70 กว่าปี เทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาได้ด้วยตนเอง เพื่อตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

          กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น "วันเทศบาล" และได้แจ้งให้เทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเทศบาลเป็นประจำทุกปี เช่น การทำบุญตักบาตร การรณรงค์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น การจัดหน่อยบริการประชาชนเคลื่อนที่เป็นพิเศษ การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาท และภารกิจของเทศบาลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) ได้จัดให้มีโครงการวันเทศบาลขึ้น เพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วกัน โดยมีกิจกรรมพิเศษ เช่นทำบุญตักบาตร กิจกรรมการแข่งขันกีฬา และจัดบอร์ดแสดงผลงาน



 

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเทศบาล 

          1. เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล

          2. เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็น ถึงความสำคัญ ของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญ ของการบริการ และการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล

          3. เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ความสามัคคีซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 1,144 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 22 แห่ง เทศบาลเมือง 108 แห่ง และเทศบาลตำบล 1,014 แห่ง

ขนาดของเทศบาล 

          เทศบาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้

            มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

สภาเทศบาล 

            เทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน

            เทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน

            เทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน

          ทั้งนี้ สภาเทศบาลประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธานสภาเทศบาล 2 คน นอกจากนี้ ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี "นายกเทศมนตรี" ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลนั้นทั้งหมด และปัจจุบันเทศบาลทุกประเภทมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง