พระประวัติ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

เผยพระประวัติ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” (อัมพร อัมพโร) ปัจจุบัน สิริอายุ 89 ปี พรรษา 68 เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. พ.ศ.2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ในช่วงวัยเยาว์ ด.ช.อัมพร ได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ต่อมา เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรอัมพร ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น

ใน พ.ศ.2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท  พ.ศ.2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

กระทั่งปี พ.ศ.2490 สามเณรอัมพร ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) และให้สามเณรอัมพร เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ

โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี’ (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ภายหลังอุปสมบท ท่านมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษา รุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500

alt

ต่อมา พ.ศ.2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ.2516 ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของมิสเตอร์ไนท์ ประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเวาธ์เวล์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลบอร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย อาทิ งานด้านการศึกษา เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น

งานด้านสาธารณูปการ ท่านเป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย และเป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น

ส่วนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2 ผุ้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

งานด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

งานด้านการสาธารณสงเคราะห์ ท่านเป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี  พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ
และวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี”

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ปัจจุบัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 68 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) เกิดปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แต่แก่เดือนกว่า 5 เดือน

 

 

Thai Arabic Belarusian Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

















 




















 















QR Code
อบต.หนองกระเจ็ด



 


ลิขสิทธิ์ © 2559 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร 0-3258-6261

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล